มนุษย์เป็นสัตว์ที่นอนเยอะมาก เพราะถ้านับว่าเวลานอนเฉลี่ยของเราคือ 8 ชั่วโมง ต่อ 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง แล้ว มันก็หมายความว่าชีวิตที่ผ่านมาของเราถึง 1 ใน 3 เราใช้ไปกับการนอน และนั่นก็หมายถึงว่าถ้าเราอายุ 30 ปี เราก็ได้ใช้เวลานอนมาทั้งชีวิตรวมกันถึง 10 ปีเลยทีเดียว

เคยสงสัยหรือเปล่าว่า “ฉลาม” หรือสัตว์จำพวกปลา มันนอนหลับกันหรือเปล่า แล้วเวลาพวกมันหลับ พวกมันนอนหลับนอนแล้วทิ้งตัวลงกับพื้นเหมือนกับมนุษย์รึเปล่า วันนี้เราไปดูข้อมูลจริงๆ กันดีกว่า ว่าพวกมันนอนหลับหรือไม่ แล้วหลับอย่างไร

George Burgess นักชีววิทยาทางทะเลชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องฉลาม กล่าวว่า “การนอนหลับเป็นสิ่งที่เรามองจากมุมมองมนุษย์ มันไม่มีหลักฐานยืนยันว่าฉลามนอนหลับเหมือนที่มนุษย์ทำ มันไม่ได้หลับตา ทิ้งตัวลงนอน แล้วก็ปิดสวิซท์ตัวเองไปหลายชั่วโมง พวกมันแค่ลดการทำงานของร่างกายลง แต่นั่นไม่ได้ว่ามันหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง”
ปล่อยเรื่องทางโลก แล้วอยู่นิ่งๆ ไหลไปเรื่อย ๆ คือเวลานอน
การนอนของฉลามคือ การที่ฉลามจะหยุดอยู่นิ่งๆ แล้วปล่อยให้ตัวเองไหลลงไปจนถึงพื้นทะเล และเมื่อถึงพื้นทะเล มันก็จะว่ายขึ้นมาข้างบนอีก แล้วก็ทำแบบเดิมซ้ำๆ ซึ่งช่วงเวลาที่มันไหลลงนั่นแหละ คือช่วงเวลาที่มันพักผ่อน
ส่วนฉลามบางชนิดที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับพื้นทะเล พวกมันก็จะหยุดทำกิจกรรมทุกสิ่งแล้วลอยนิ่งๆ โดยลืมตาไว้ เพื่อเป็นการพักผ่อน ซึ่งปลาหลายๆ ชนิด ก็มีวิธีการพักผ่อนแบบนี้เช่นกัน ในที่สุดก็รู้แล้วนะว่าพวกมันนอนหลับยังไง บางทีเราก็ไม่สามารถใช่มาตรฐานของมนุษย์ไปตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้

พักครึ่งสมอง อีกครึ่งซีกทำงาน สลับกันไป ก็ไม่ต้องนอนก็ได้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล และนกจำนวนมาก หมายถึง สัตว์หลาย ๆ สายพันธุ์ในตระกูลโลมา วาฬ แมวน้ำ สิงโตทะเล ไก่บ้าน เป็ด ไปถึงนกกระจอก นักชีววิทยาพบว่ามีความสามารถในการหลับด้วยสมองซีกเดียวได้ทั้งสิ้น ซึ่งเวลาเขาทดสอบ เขาก็จะเอาเครื่องตรวจคลื่นสมองไปติด และสัตว์ที่มีความสามารถเหล่านี้ ในทางปฏิบัติ เวลามันนอนด้วยสมองซีกเดียว สมองที่นอนก็จะมีคลื่นสมองแบบสมองตอนหลับ และอีกข้างก็จะมีคลื่นสมองแบบสมองตอนตื่น
การหลับแบบนี้ได้ ก็หมายความว่าสัตว์นั้นอาจมีลักษณะพฤติกรรมเหมือนสัตว์ที่ตื่นอยู่ก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง มันตื่นอยู่แค่สมองซีกเดียว อีกซีกหลับ และคำอธิบายนี้ มันก็เลยถูกนำไปใช้ในการอธิบายความสามารถของนกที่ทำการอพยพในระยะไกล ๆ โดยไม่ต้องนอนอีกด้วย
นอกจากนี้การค้นพบว่าสัตว์จำนวนไม่น้อยสามารถหลับด้วยสมองซีกเดียวได้นั้นเป็นการยิ่งยืนยันสมมติฐานว่า “สัตว์ทุกชนิดต้องหลับ” ไปกันใหญ่ เพราะมันกลายเป็นว่า แม้แต่สัตว์ที่ในทางกายภาพต้องขยับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่งั้นจะตายเพราะหายใจไม่ออกอย่างปลาฉลาม มันก็มีคำอธิบายว่ามัน “หลับ” ยังไงทั้ง ๆ ที่ต้องขยับตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริง ๆ ก็ยังไม่เคยมีการเช็กว่าฉลามนั้นมีความสามารถในการหลับด้วยสมองซีกเดียวจริงหรือไม่ เนื่องจากมันทดสอบยากอย่างที่ว่ามา
ฉลามก็เป็นโรคนอนไม่หลับหรือนี่
นักวิทยาศาสตร์ไม่มีหลักฐานว่าฉลามนี่ “หลับ” หรือไม่ แต่ฉลามไม่ “นอน” แน่ ๆ เพราะด้วยสภาพทางกายภาพมัน มันต้องว่ายน้ำตลอดเวลาเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปทางเหงือก ไม่งั้นมันก็หายใจไม่ออก และตาย แต่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าฉลามพวกนี้มีความสามารถในการ “หลับ” ด้วยสมองแค่ซีกเดียวได้ โดยให้อีกซีกทำงานไป ซึ่งพอสมองแต่ละข้างผลัดกันหลับ ผลสุดท้ายสมองทั้งหมดก็ได้พักผ่อน
นี่เป็นสมมติฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดว่าเท่าที่พบมาไม่มีสัตว์ชนิดใดที่ไม่นอน และสัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถจับมาใส่เครื่องตรวจคลื่นสมองได้ มีสัตว์หลายชนิดเลยที่มีความสามารถหลับด้วยสมองซีกเดียวได้